วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิกฤต... "บัณฑิตแห่ตกงาน" อีกหนึ่งความล้มเหลว... อุดมศึกษาไทย

           ทําเอาใจหายใจคว่ำไปตามๆ กัน หลังบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จัดโครงการ "จากกันด้วยใจ" ปลดพนักงานรับเหมาช่วงกว่า 1,000 คน โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว... ทิ้งช่วงไม่กี่วัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาเปิดเผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ระดับ 71.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 72.6 เป็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวนัก หากพิจารณาตัวเลข อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบด้วยว่ามีตัวเลขที่สูงขึ้นต่อเนื่องมา 5 ปี โดยปี 2554 อยู่ที่ 0.679% ปี 2555 อยู่ที่ 0.657% ปี 2556 อยู่ที่ 0.72% ปี 2557 อยู่ที่ 0.836% ปี 2558 อยู่ที่ 0.883% และในปี 2559 ณ เดือนพฤษภาคม อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.2% ขณะที่ปี 2552 อัตราการว่างงานอยู่ระดับ 1.489% และปี 2553 อยู่ที่ 0.041% ทั้งนี้ ยังพบว่ายอดการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเกิดมาจากการไม่มีการจ้างงานเพิ่ม ทำให้คนว่างงานและส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตจบใหม่!!! อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิต คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ถูกตั้งคำถามถึง คุณภาพในการผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน ว่ามีมาตรฐานมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญตอบโจทย์ความต้องการของประเทศหรือไม่??? นายสรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ออกมายอมรับว่า สถานการณ์บัณฑิตตกงานมีมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอัตราการว่างงานอยู่ที่ 27% ของจำนวนบัณฑิตที่จบใหม่ในแต่ละปี สะท้อนให้เห็นว่าบัณฑิต 4 คน จะตกงาน 1 คน ซึ่ง สกอ. เองพยายามแก้ไข โดยมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ปรับตัว เตรียมบัณฑิตให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เน้นเปิดสอนในคณะ/สาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ ยกเลิกหลักสูตรที่ไม่มีผู้เรียน หรือลดการรับนักศึกษาในหลักสูตรที่ไม่ใช่ความต้องการของประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ สกอ. ยังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงแล้ว และยังมีโอกาสที่สถานประกอบการจะรับบัณฑิตเหล่านั้นเข้าทำงานทันทีเมื่อจบการศึกษา อีกทั้ง หากจะเปิดหลักสูตรใหม่ ขอให้คำนึงถึงความต้องการของประเทศในแต่ละช่วงเป็นหลักด้วย ทั้งนี้นโยบายของ สกอ. เป็นเพียงการขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้น ไม่สามารถบังคับให้มหาวิทยาลัยดำเนินการได้ แต่เชื่อว่ามหาวิทยาลัยเองพยายามปรับตัว เพื่อพร้อมรับกับปัญหานี้เช่นกัน ด้าน นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยอมรับว่าตัวเลขบัณฑิตตกงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก สิ่งที่ ทปอ. พยายามส่งเสริมคือให้มหาวิทยาลัยสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ เก่ง และดีพอที่จะถูกจ้างงานได้ทันที ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องปรับตัว จัดการเรียนการสอนที่ไม่เน้นการเล็กเชอร์ในห้องเรียน แต่เน้นเพิ่มสมรรถนะในการทำงานให้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตามนโยบาย สกอ. โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องหาจุดเด่นของตัวเองและเปิดสอนในสาขาที่เชี่ยวชาญ รวมถึงดูความต้องการของประเทศในอนาคตด้วยว่าต้องการกำลังคนในสาขาใด ขณะที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แจกแจงผลสำรวจตัวเลขบัณฑิตตกงาน อย่างลงลึกว่า ตัวเลขบัณฑิตจบใหม่ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อยู่ที่ประมาณ 360,000 คนต่อปี ทั้งนี้ ไม่อยากให้สังคมตระหนกกับตัวเลขบัณฑิตตกงานที่ออกมามากนัก เนื่องจากในแต่ละปีมหาวิทยาลัยจะประเมินคุณภาพบัณฑิต โดยติดตามอัตราการมีงานทำของบัณฑิตที่จบออกไป ซึ่งพบว่าบัณฑิตส่วนใหญ่หางานทำได้ตามปกติ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เรียนต่อระดับปริญญาโท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียน หรือทำธุรกิจครอบครัว หรือธุรกิจส่วนตัว ดังนั้นตัวเลขอัตราการมีงานทำที่หน่วยงานต่างๆ สำรวจมาอาจไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงมากนัก "แต่โดยภาพรวมก็ยอมรับว่ามีบัณฑิตส่วนหนึ่งตกงานจริง ส่วนใหญ่จะเป็นบัณฑิตที่เรียนในสายสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ที่ต้องการผู้ที่เรียนในสายวิทยาศาสตร์จำนวนมาก แต่กลับมีผู้เลือกเรียนน้อย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยพยายามปรับตัว ลดจำนวนรับเด็กในสายสังคมลง และเพิ่มจำนวนรับในสายวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะค่านิยมของนักเรียนในปัจจุบัน นิยมเข้าเรียนในสายสังคมมากกว่า เห็นได้จากการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ผู้ที่ได้คะแนนแอดมิสชั่นส์อันดับ 1 ของประเทศ เลือกเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ ดังนั้น อยากให้สังคมช่วยสร้างค่านิยมใหม่ให้เด็กกลับมาสนใจเรียนสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะประเทศยังต้องการบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมาก" นายสุชัชวีร์กล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของ นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ที่ระบุว่า สถานการณ์การจ้างงานในขณะนี้ยังเป็นปกติ และยังไม่มีนัยยะสำคัญบ่งบอกถึงการว่างงานในระดับที่สูง ตัวเลขที่ออกมาก็ไม่ใช่ตัวเลขการว่างงานในภาคอุตสาหกรรม เพราะขณะนี้ในหลายอุตสาหกรรมก็ยังขาดแคลนแรงงานในระดับการผลิตจำนวนมาก แต่มีความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการและแรงงานที่มีอยู่ ซึ่งพบว่ามีผู้จบระดับปริญญาตรีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นสาขาทางสังคมศาสตร์ ทั้งที่ตลาดแรงงานมีความต้องการผู้จบปริญญาตรีในสาขาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงกว่า อีกทั้งตลาดแรงงานยังมีความต้องการแรงงานในระดับอาชีวะ ระดับไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยมีภาคการผลิตต้องการแรงงานเข้มข้น ดังนั้น จึงต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชนหันมาเลือกเรียนต่อในสาขาจบออกมาตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จูงใจให้หันมาเรียนอาชีวะมากกว่ามุ่งศึกษาในระดับปริญญาตรี หากดูตามนี้ สาเหตุที่ทำให้บัณฑิตตกงาน แท้จริงคงไม่ใช่ไม่มีงานให้ทำ แต่เป็นเพราะสถาบันอุดมศึกษาผลิตคนออกมาได้ไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องปรับตัว ลดจำนวนการผลิตในสาขาที่ล้นตลาด แล้วหันมาส่งเสริมให้เด็กเข้าเรียนในสาขาตอบโจทย์ประเทศในอนาคตมากขึ้น !!!

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.kroobannok.com/article-79464-วิกฤต...-บัณฑิตแห่ตกงาน-อีกหนึ่งความล้มเหลว...-อุดมศึกษาไทย.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น